สถานที่สำคัญแหล่งท่องเที่ยว
ภูเกลิ้ง
สถานที่ท่องเที่ยว ภูเกลิ้ง
หมู่ 6 บ้านภูเขาขาม ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาเจริญ
เส้นทางเข้าสู่แหล่ง
การเดินทางไปยังภูเกลิ้ง – ภูเขาขาม จากอำเภอเมืองอำนาจเจริญมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามถนนหมายเลข 202 เป็นระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายที่บ้านเหล่าพรวนไปตามถนน อบจ.อจ. 3037 เป็นระยะทางประมาณ 11.5 กิโลเมตร ผ่านบ้านเหล่าพรวน บ้านคำปอแก้ว บ้านคำใหล บ้านสงยาง ถึงบ้านภูเขาขาม จากนั้นตรงเข้าไปตามเส้นทางจนสิ้นสุดหมู่บ้าน เมื่อพ้นหมู่บ้านแล้วให้ตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วสังเกตทางขวามือจะมีป้ายบอกทางไปชมรอยเท้ามนุษย์โบราณ เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางประมาณ 500 เมตร จะเห็นป้ายบอกสถานที่ ภูเกลิ้ง – ภูเขาขาม จากนั้นเดินเท้าไปทางซ้ายของป้ายประมาณ 500 เมตร ถึงลานหินทรายซึ่งเป็นที่ตั้งของรอยคล้ายมนุษย์โบราณ
ประวัติการค้นพบ
สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานีได้รับแจ้งจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญว่าราษฎรบ้านภูเขาขาม หมู่ที่ 6 ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ มีความประสงค์ให้ตรวจสอบรอยเท้ามนุษย์โบราณ สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานีจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบรอยดังกล่าว
สภาพทั่วไป
บ้านภูเขาขามเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีพื้นที่แวดล้อมด้วยป่าและพื้นที่การเกษตร แหล่งน้ำสำคัญคือ ห้วยตาว ไหลผ่านทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ส่วนบริเวณที่พบรอยคล้ายรอยเท้ามนุษย์ สภาพพื้นที่เป็นลานหินบนเนินเขาไม่สูงมากนัก แวดล้อมไปด้วยพื้นที่ป่า
หลักฐานที่พบ
บริเวณลานหินพบรอยลึกลงไปในพื้นที่หินลักษณะคล้ายรอยเท้ามนุษย์ข้างขวา โดยรอยเท้านี้มีขนาดยาวประมาณ 28 เซนติเมตร ส้นเท้ากว้าง 8 เซนติเมตร ปลายเท้าบริเวณนิ้วกว้าง 9 เซนติเมตร รอยลึกลงไปประมาณ 1-2 เซนติเมตร บริเวณรอยเท้านี้ชาวบ้านได้ทำโครงเหล็กกั้นไว้รอบทั้งสี่ด้านและยังคงมีร่องรอยก้านธูปและพวงมาลัยที่ชาวบ้านนำมาไหว้
รอยคล้ายรอยเท้ามนุษย์บนลานหิน
การวิเคราะห์
1. รูปรอยดังกล่าวนี้ มีลักษณะคล้ายรอยเท้าของมนุษย์อย่างมากซึ่งตามประวัติการค้นพบรอยเท้ามนุษย์ที่เก่าที่สุดคือรอยเท้าของมนุษย์สายพันธุ์ออสตราโลพิเธคัส ที่เดินบนหาดทรายเมื่อประมาณ 1.5 ล้านปีที่แล้ว
2. เนื่องจากรูปรอยเท้านี้ปรากฏบนหินที่เป็นชั้นหินของภูเกลิ้งที่มีอายุในช่วงเครีเตเซียสถึงจูราสซิกประมาณ 66.4-210 ล้านปี ซึ่งเป็นหมวดหินพระวิหาร กลุ่มหินโคราช
3. หลักฐานที่พบจึงไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สอดคล้องกัน คือจะให้กำหนดอายุรูปรอยเท้าให้หลายสิบหลายร้อยล้านปีมาแล้วก็เป็นไปได้ยากเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่เคยมีการค้นพบมนุษย์หรือบรรพบุรุษของมนุษย์ที่ยืนตัวตรงและมีรอยเท้าลักษณะนี้มาก่อนเลยหรือจะให้กำหนดอายุของชั้นหินที่ภูเกลิ้งให้มีอายุลงมาที่ 1-2 ล้านปีที่แล้วก็เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นค่าอายุของชั้นหินทางธรณีวิทยา
อายุสมัย - ยังไม่สามารถกำหนดอายุได้ในขณะนี้
ที่มาของข้อมูล
จากหนังสือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ อจ 0031/3444 วันที่ 14 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบรอยเท้ามนุษย์โบราณ และตรวจสอบใบเสมา
สัมภาษณ์ นางนิล ศรีสุพรรณ อายุ 68 ปี ราษฎร บ้านภูเขาขาม หมู่ 6 ตำบลคึมใหญ่
นางคำฟอง อุดมศรี อายุ 51 ปี ราษฎร บ้านภูเขาขาม หมู่ 6 ตำบลคึมใหญ่
คณะสำรวจ
- นายชิญณวุฒิ วิลยาลัย นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี
- นางสาวอลิสา ขาวพลับ นักโบราณคดีประจำโครงการโบราณคดีลุ่มน้ำมูล - ชี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
วันที่สำรวจ
23 สิงหาคม 2556